Top

ขั้นตอนง่ายๆ ในการตรวจรับบ้านและคอนโดด้วยตนเอง

ไม่ว่าคุณจะเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัยก็ตาม จำนวนเงินที่เจียดออกมาผ่อนจากเงินเดือนแต่ละเดือนเรียกได้ว่าไม่น้อยเลยนะคะ ยิ่งหากซื้อบ้านมาแล้วต้องมาตามเก็บซ่อมจุกจิกกวนใจ เสียทั้งเวลาและเงินอีกคงเป็นเรื่องชวนเซ็งไม่น้อย ไหน ๆ จะซื้อบ้านอยู่ทั้งที เรามาลองศึกษาวิธีการตรวจรับบ้านก่อนโอนด้วยตัวเองดีกว่าค่ะ

โดยการตรวจสอบนี้จะแบ่งออกเป็นหมวดต่าง ๆ ทั้งหมด  10 หมวดด้วยกัน ซึ่งในส่วนของผู้ที่ซื้อคอนโดก็ให้ตัดหมวดของหลังคา โครงสร้างบันได และบริเวณรอบนอกออกไปนั่นเอง เรามาลองเช็คตามกันทีละหมวดดังนี้เลยค่ะ

การตรวจงานในหมวดหลังคา

1. ในส่วนของกระเบื้องหลังคา แนวการมุงต้องดูเรียบไม่โก่ง กระเดิด ไม่อ้าหรือกระเบื้องมีรอยแตกร้าว โดยอาจใช้กล้องส่องดูก็ได้ หรือจะใช้วิธีเปิดฝ้าเพดานชั้นบนสุดออก เพื่อดูใต้หลังคาว่าไม่มีแสงส่องเข้ามาผ่านทางกระเบื้องที่แตกร้าวนั่นเอง

2. ครอบหลังคา ต้องใช้กล้องส่องดูว่าไม่มีรอยแตกร้าว หรือเลอะคราบปูน ตัวปูนยาแนวต้องเป็นเส้นตรง และทาสีเดียวให้กลมกลืนกับสีของหลังคาให้เรียบร้อยด้วย

3. การตรวจเหล็กโครงหลังคาให้เปิดฝ้าชั้นบนสุดดู โครงต้องไม่บิดไม่แอ่น และต้องทาสีกันสนิมให้ทั่ว ยิ่งโดยเฉพาะรอยเชื่อม เพื่อป้องกันความชื้นทำให้เกิดสนิมได้

4. ในส่วนของฉนวนกันความร้อนนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือชนิดที่ปูทับแป และชนิดที่ปูติดกับแผ่นยิปซั่ม แต่ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ต้องปูเต็มพื้นที่หลังคา ไม่หลุดหรือฉีกขาดด้วยค่ะ

5. ปั้นลมหรือไม้ที่ปิดทับหน้าจั่วด้านนอกอีกชั้น ต้องมีรอยต่อที่สนิทและทาสีเรียบร้อยสวยงาม

6. เชิงชายหรือไม้ที่ปิดทับชายคาด้านรางน้ำฝน  ต้องมีรอยต่อที่สนิทและทาสีเรียบร้อยสวยงามอีกเช่นกัน

7. ปิดนก หรือไม้สำหรับปิดกันนกเข้าไปทำรังใต้หลังคา มีลักษณะเป็นลอนตามโค้งของลอนกระเบื้อง ผลิตจากไม้หรือพลาสติก  การติดตั้งต้องมีความสนิทแนบกับลอนของกระเบื้อง หากอยู่สูงจากระดับสายตามากเกินไป ก็ควรใช้กล้องส่องดู

การตรวจงานในหมวดฝ้าเพดาน

1. ฝ้าเพดานทุกแผ่นต้องไม่มีรอยแตกร้าว รอยต่อระหว่างแผ่นต้องเรียบเนียน ไม่มีคราบเลอะ สีที่ทาต้องเรียบสม่ำเสมอไม่เป็นเม็ด

2. ระดับความสูงจากพื้นถึงฝ้าตาม พรบ. วัดแล้วต้องไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร

3. บริเวณรอยต่อเข้ามุมของบัวฝ้าเพดานต้องเรียบสนิท ไม่เห็นหัวตะปู และทาสีเรียบเนียนสม่ำเสมอทั่วกัน

4. สำหรับฝ้าเพดานในส่วนห้องน้ำต้องเป็นฝ้ากันชื้น โดยดูจากด้านบนของฝ้าต้องเป็นชนิดสีเขียว

5. ฝ้าเพดานในห้องน้ำต้องทำช่องเซอร์วิสไว้สำหรับเปิดดูระบบท่อต่าง ๆ เพื่อให้ซ่อมบำรุงได้อย่างสะดวก

การตรวจงานในหมวดผนังภายใน

1. ผนังต้องไม่มีรอยแตกร้าว หากพบต้องแก้ไขโดยการสกัดปูนออกเป็นแนวตามรอยร้าวกว้าง 1 เซนติเมตร แล้วเก็บปูนฉาบพอแห้งแล้วทาสีทับให้เรียบสนิท

2. ปูนฉาบต้องเรียบสนิทไม่เป็นลอนคลื่น ไม่เป็นเม็ด สีสันต้องสม่ำเสมอ ไม่มีผิวด่าง หรือมีคราบสกปรกให้เห็น

3. บริเวณขอบมุมสันปูนและเซี๊ยมต้องเป็นเส้นตรงและคมไม่บิ่นหรือมีรอยแตก

4. เมื่อใช้เหรียญหรือไม้เคาะ ผนังต้องไม่เป็นโพรงหรือร่อน หากพบให้ทำการสกัดแล้วฉาบใหม่

5. ผนังกรุวอลล์เปเปอร์ ต้องเรียบสนิทไม่เกิดเป็นเม็ด หรือรอยต่อไม่สนิท รวมทั้งต้องเข้ามุมให้เรียบร้อยด้วย

การตรวจงานในหมวดผนังภายนอก

1. ขั้นแรกให้ตรวจสอบตามหมวดผนังภายในตั้งแต่ข้อ 1-4 แล้วตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

2. บริเวณบัวเชิงผนังโดยรอบต้องไม่แตกร้าว รอยต่อต้องเรียบสนิททาสีสม่ำเสมอสวยงาม

3. บริเวณใต้ท้องคาน ใต้ขอบผนัง รวมทั้งใต้ขอบระเบียง ต้องทำเซาะร่องบัวหยดน้ำ ป้องกันน้ำไหลเอาคราบสกปรกมาเกาะใต้ท้องคาน

4. ในส่วนของปูนฉาบด้านล่างต้องฉาบให้สุดท้องคานคอดิน ที่เมื่อปรับระดับดินแล้วต้องมองไม่เห็นส่วนที่ไม่ฉาบ

การตรวจงานในหมวดประตู

1. วงกบประตูไม้ต้องมีความเรียบ สันไม่บิ่น เข้ามุมวงกบได้ฉากสนิท ทำสีเรียบร้อยไม่มีรอยด่าง

2. บริเวณด้านข้างวงกบรวมไปถึงผนังปูนโดยรอบ ต้องไม่มีรอยแตก หรือหากมีต้องแยกแนวให้สนิทเรียบร้อยทั้งหมด

3. ผิวบานประตูที่ทาสีต้องไม่เห็นลายเนื้อไม้ สีไม่เป็นด่าง หรือมีคราบสกปรกเลอะเทอะ

4. สังเกตดูบริเวณขอบบานสันประตูทั้ง 4 ด้าน ต้องทาสีให้เรียบร้อย โดยมากช่างมักจะเว้นด้านบนและด้านล่างเอาไว้เพราะลูกค้าอาจไม่เห็น ให้ใช้กระจกเงามาส่องดู ยิ่งหากเป็นบานในห้องน้ำแล้ว ยิ่งต้องทาส่วนขอบล่างด้วย เพราะเป็นส่วนที่โดนน้ำได้ง่าย อาจทำให้ประตูบวมได้ แต่หากเป็นประตู PVC ก็ไม่จำเป็นต้องทา

5. บานประตูต้องปิดได้สนิท แต่ไม่เสียดสีจนบานขบกัน บานประตูต้องไม่บิด และมีร่องห่างระหว่างบานกับวงกบไม่เกิน 3 มม. และบานต้องไม่ตกด้วย

6. บานพับประตูต้องใส่สกรูให้ครบและมีสีเดียวกับตัวบาน อุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกบิด ล็อก สตอปเปอร์ ต้องอยู่ในสภาพใหม่ ใช้งานได้ดี ติดตั้งแน่นหนาพร้อมใช้งาน

7. ในส่วนของชุดประตูอลูมิเนียมนั้น ผิวอลูมิเนียมต้องปราศจากรอยข่วน ไม่มีสีเลอะ สีลอก เก็บซิลิโคนรอบกรอบเรียบร้อย ยางขอบกระจกต้องไม่ปลิ้นออกมา และที่สำคัญมากและช่างกระจกมักละเลยคือ สักหลาดช่องขอบกระจก และท้ายบานแนวตั้ง ซึ่งช่วยป้องกันบานกระพือ ทำให้บานประตูปิดได้สนิทขึ้นด้วย

8. หากเป็นชุดประตูบานเลื่อน ล้อเลื่อนต้องไม่ฝืด เสียงไม่ดัง และเลื่อนชนผนังได้สนิท หากไม่สนิทต้องปรับน๊อตล้อให้สนิท

การตรวจงานหมวดหน้าต่าง

ตรวจเหมือนหมวดงานประตูทุกข้อ

การตรวจงานหมวดพื้นห้อง

1. พื้นลามิเนตรอยต่อต้องสนิทกันทั้งผืน อนุโลมให้มีร่องห่างได้ไม่เกินความหนาของกระดาษ A4 แผ่นเดียวเท่านั้น

2. เวลาเดินผ่านไปบนพื้นต้องไม่มีเสียงเอี๊ยดอ๊าด พื้นไม้ยุบตัวมากเกินไป (โดยทั่วไปแล้วพื้นจะยุบตัวเล็กน้อยเพราะด้านล่างจะซับด้วยโฟมแผ่นบางๆ)

3. รอยต่อของบัวเชิงผนังต้องสนิทเรียบร้อย การติดบัวควรใช้กาว แต่หากต้องใช้ตะปูก็ต้องเก็บรอยหัวตะปู รอยโป๊ว และทำสี

4. ลองเหยียบบริเวณใต้บัวเชิงผนังดู พื้นบริเวณนี้ต้องไม่ยุบ ไม่มีฝุ่นฟุ้งขึ้น และเก็บยาแนวต้องเรียบร้อยสม่ำเสมอ

5. หากเป็นพื้นกระเบื้อง ต้องเคาะไม่เป็นโพรง (เวลาของแข็ง ๆ ตกใส่จะได้ไม่แตก) รอยต่อต้องเรียบเนียนไม่สะดุด ยาแนวสะอาด และเป็นเส้นตรง

การตรวจงานหมวดระเบียง

1. ตรวจเช็คพื้นกระเบื้องเหมือนหมวดพื้น และต้องเช็ค Slope ความลาดเอียงของพื้นต้องเทลาดไปทางรูน้ำทิ้ง น้ำจะได้ไม่ขัง

การตรวจงานหมวดบันได

1. ในกรณีที่บ้านชั้นบนมีพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 300 ตร.ม. ขนาดของลูกนอนต้องไม่น้อยกว่า 22.5 ซม. ขนาดของลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 ซม. และความกว้างบันไดจากผนังถึงราว 90 ซม. ความสูงจากลูกนอนจนถึงฝ้าเพดาน 1.90 เมตร

การตรวจงานหมวดห้องน้ำ

1. สายน้ำดีที่ต่อเข้าสุขภัณฑ์ต้องมีสต๊อปวาล์วทุกจุด เพื่อไว้เปิด-ปิดในการซ่อมแซมได้

2. ตรวจพื้นกระเบื้องเหมือนในหมวดพื้น และ Slope หรือความลาดเอียงต้องเทไปทางรูระบายน้ำ ทดสอบด้วยการราดน้ำดูอย่าให้มีน้ำขังบนพื้นห้องน้ำ

3. ทดสอบว่าน้ำรั่วหรือไม่ด้วยการปิดวาล์วน้ำทั้งหมดแล้วดูมิเตอร์ หากยังหมุนอยู่แสดงว่าน้ำรั่ว

การตรวจงานหมวดไฟฟ้า

1. ตรวจสอบสายดินกันไฟดู และการเข้าสาย L-N ด้วยการใช้มิเตอร์วัด

2. ตรวจสอบดูสายของสวิทช์และดวงโคม โดยจะใช้สายขนาด 1.5 sq.mm.

3. ตรวจสอบขนาดของสายปลั๊ก โดยมาตรฐานจะใช้ขนาด 2.5 sq.mm.

4. ตู้คอนโทรลหรือตู้ควบคุมไฟฟ้า ควรอยู่ในระดับที่มือผู้ใหญ่เอื้อมถึงได้  เพื่อความสะดวกในการซ่อมบำรุง หรือปิด-เปิดได้เวลาไม่อยู่บ้านนาน ๆ

5. สายเมนที่ต่อกับมิเตอร์ไฟขนาด 15(45) ควรใช้สายเมนขนาด 16 sq.mm. และสำหรับสายดินจะใช้ขนาด 10 sq.mm. เชื่อมต่อกับหลักดินยาวไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร

หลักการตรวจสอบบ้านทั้งหมดนี้ คุณผู้อ่านสามารถนำไปตรวจสอบบ้านเองได้ในเบื้องต้นก่อนรับโอนค่ะ 

แต่หากต้องการความมั่นใจจะว่าจ้างผู้ตรวจสอบมืออาชีพเข้าไปช่วยตรวจสอบด้วยก็จะเพิ่มความมั่นใจได้อีกมากเลยทีเดียว

ที่มา : homenayoo.com

ที่ปรึกษาด้านการอยู่อาศัย