Top

ขั้นตอนการตรวจรับมอบห้องชุด หรือบ้าน


ปัจจุบันการเลือกซื้อห้องชุดในคอนโดมิเนียม เป็นทางเลือกหนึ่งของนักลงทุน และคนเมืองหลวงที่ต้องการที่อยู่อาศัยแบบสะดวกสบายในการเดินทาง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในทำเลทองหรืออยู่ในทำเลที่มีอนาคต ยิ่งใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก และความเจริญมากเท่าไรยิ่งดี “ซื้ออยู่ก็ดี ซื้อขายก็คล่อง” หลายคนจึงเลือกโฟกัสคอนโดฯ ในย่านทำเลทองเป็นกันมาก

แน่นอนว่า..ราคาซื้อขายก็ดีดตัวสูงขึ้นตาม ดังนั้นก่อนจะเซ็นรับมอบห้องชุด จึงต้องตรวจสอบทุกบริเวณในห้องให้ดีๆ เพื่อเกิดการชำรุดหรือก่อสร้างไม่ดีจะได้แจ้งโครงการให้ซ่อมแซมปรับปรุงได้ทัน เพราะหากเซ็นรับมั่วๆ แล้วอยู่ไปแล้ว เกิดปัญหาหรือชำรุด กว่าจะเรียกช่างมาแก้ไขปรับปรุงต้องบอกเลยว่าเป็นงานหิน ดังนั้นการตรวจสอบให้ดีก่อนเซ็นรับมอบมีความสำคัญมาก ผู้ซื้อควรจัดเตรียมอุปกรณ์ในการตรวจรับไว้ให้พร้อม เช่น  ปากกา สมุดโน้ตหรือกระดาษไว้จดรายการที่ต้องซ่อมแซม เศษผ้าสำหรับตรวจสอบน้ำซึม ไฟฉาย กระดาษกาวสำหรับแปะจุดที่ต้องซ่อม  อุปกรณ์ตรวจสอบปลั๊กไฟ กล้องถ่ายรูปเป็นอุปกรณ์สำคัญไว้ถ่ายรูปจุดที่ต้องการแก้ไข และเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ เหรียญสำหรับเคาะตามพื้นเพื่อตรวจสอบว่ามีช่องหรือโพรงใต้พื้นที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต และสิ่งที่ต้องตรวจสอบ ได้แก่

1.ระบบสุขาภิบาล

เริ่มจาก ก๊อกน้ำ และฝักบัว ที่มีทั้งหมดในห้องชุด โดยการใช้ผ้าเช็ดตามรอยต่อของก๊อกน้ำทุกตัว เพื่อตรวจสอบดูว่ามีน้ำซึมหรือไม่ เปิดก๊อกน้ำทุกตัวเพื่อตรวจสอบระบบน้ำ ท่อน้ำเสีย น้ำทิ้ง และตรวจสอบอุปกรณ์ที่ควรมีอยู่ในห้องน้ำ เช่น อ่างล้างหน้า ที่แขวนผ้าเช็ดตัว ฝาปิดท่อน้ำแบบกันกลิ่น ตรวจสอบการทำงานของชักโครกและสายชำระ ระบบเครื่องทำน้ำอุ่น

2.ตรวจสอบระบบไฟฟ้า

โดยตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้ควบคุมไฟ สวิทซ์ ปลั๊ก การทำงานของระบบเบรกเกอร์ และระบบดวงไฟต่างๆ ทดลองด้วยการเปิดปิดดูว่าไฟฟ้าเปิดติดทุกดวง ต่อไฟเข้าทุกจุดหรือไม่ เต้ารับ สวิตซ์ เต้าเสียบแน่นหนาหรือลองเสียบใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า แล้วเกิดฉนวนร้อนของสายไฟฟ้าหรือไม่ โดยสังเกตสีของสายไฟที่เปลี่ยนไป หากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ แสดงว่าอุณหภูมิสูงกว่าปกติ อาจมีการใช้ไฟเกินขนาดสาย หรือมีการต่อสายไม่แน่น

รวมถึงมีอุปกรณ์เซฟทีคัท มีการตัดไฟเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ ลองทดสอบว่าเครื่องนี้ใช้ได้ปกติไหม ด้วยการปิดเบรกเกอร์ย่อยในตู้ไฟลงให้หมด แล้วค่อยๆ เปิดเบรกเกอร์ย่อยทีละตัว ถ้าเปิดไปถึงตำแหน่งใดก็ตามแล้วตัด แสดงว่าวงจรเบรกเกอร์นั้นไฟรั่ว ไม่ต้องเปิดเบรกเกอร์นั้น แล้วไล่หาที่เหลือให้หมด แล้วคราวนี้คอยดูว่าไฟฟ้าส่วนไหนบ้างในห้องที่ยังไม่ติด แสดงว่าเป็นวงจรที่เราตัดไว้ ซึ่งจะหาจุดรั่วได้คร่าวๆ

3. ตรวจสอบสภาพพื้น

เริ่มจากกระเบื้องพื้นภายในส่วนต่างๆ ของห้องชุด เช่น กระเบื้องพื้นห้องน้ำ กระเบื้องระเบียง และการปูกระเบื้องภายในห้องชุด ไม่บิดเบี้ยว เฉ เฉียง ยาแนวเรียบร้อยหรือไม่ ไม่มีเศษปูนล้นร่อง ขรุขระ หรือใช้เหรียญวางแนบลงรอยต่อสองแผ่น ถ้ากดแล้วเหรียญกระดก แสดงว่าปูพื้นไม่สม่ำเสมอ หรือจะลองวางลูกแก้วหลายๆลูก ดูทิศทางการไหล ถ้าไหลไปรวมจุดเดียวกัน แสดงว่าตรงนั้นเป็นแอ่งกะทะ ถ้าอยู่ในห้องน้ำ อาจทำให้น้ำไหลไปร่วมกันตรงจุดนั้นได้ หรือจะทดสอบด้วยการนำเหรียญเคาะดูว่ามันแน่นหรือฟังเสียงโปร่งใส ถ้าโปรงแสดงว่าปูพื้นข้างล่างไม่ดี

4. ตรวจสอบทั่วๆ ไป

การตรวจสอบทั่วๆ ไป ได้แก่การตรวจสอบพื้นที่ส่วนต่างๆ ภายในห้องชุด เช่น ตรวจสอบผนัง ฝ้าเพดาน ประตู หน้าต่าง กระจก งานทาสี การติดวอลเปเปอร์ เครื่องปรับอากาศ และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มีรอยรั่วรอยร้าว ติดตั้งดีหรือไม่เป็นระเบียบหรือเลื่อนเกยกัน หากมีจุดที่ชำรุดควรจด ถ่ายภาพเป็นหลักฐานเก็บไว้

5. การตรวจสอบภายในห้องครัว

ห้องครัวเป็นส่วนสำคัญ ควรเช็คช่องระบายควัน เปิดปิดได้สะดวกหรือไม่ มีเสียงพัดลมดูดอากาศหรือเปล่า ไฟส่องสว่างเป็นอย่างไร ผิวของพื้นต้องไม่มีรอยคราบสกปรก ไม่มีรอยลอก หรือเลอะคราบสี คราบปูน ไม่บวมโก่งเหยียบดูต้องไม่ยวบ

บานชุดครัวติดตั้งแข็งแรง ไม่บวมโก่งเปิดปิดได้สะดวก รวมถึงอ่างซึ้งล้างจานต้องไม่มีรอยยุบ แนบสนิทกับเคาเตอร์ก๊อกน้ำ มีความแข็งแรงยึดติดแน่นไม่โยกไปมาจนมีน้ำรั่วซึม

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการตรวจรับห้องชุดแค่นั้น ซึ่งในทางปฎิบัติจริงยังมีรายละเอียดต่างๆ อีกมากมาย ลองศึกษาดู และตรวจให้ละเอียดทุกจุด ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง อย่าได้เกรงใจเซลล์ผู้ขายด้วยการรีบเซนต์ รับในเอกสารจะได้ไม่ต้องมาปวดหัว ปาดน้ำตากับการต้องมาแก้ไขปัญหาในบ้าน หรือต้องวิ่งหาช่างซ่อมทีหลังหากเป็นไปได้อาจจ้างผู้เชี่ยวชาญให้มาทำการตรวจสอบร่วมด้วยจะดีมาก รอบคอบมั่งคั่ง

ที่มา : homezoomer.com

ที่ปรึกษาด้านการอยู่อาศัย