Top

บัตรแมงมุม ใบเดียวเชื่อมต่อทุกการเดินทาง

บัตรแมงมุม ใบเดียวเชื่อมต่อทุกการเดินทาง


สัปดาห์นี้อัพเดทความไฮเทคยุค “สังคมไร้เงินสด” กับ “บัตรแมงมุม” ใช้สำหรับการเดินทาง ว่าจะง่ายและสะดวกแค่ไหนไปดูกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญชวนประชาชนและภาคธุรกิจหันมาชำระเงินโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านทางสมาร์ทโฟน มีเป้าหมายให้สังคมไทยก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” มากขึ้น เพื่อความสะดวกสบาย และปลอดภัยไม่ต้องกลัวถูกฉกชิงวิ่งราว สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

แน่นอนทุกองคาพยพต้องผลักดันไปสู่เป้าหมาย ซึ่ง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้แทนเงินสดในการลดค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ ช่วยลดราคาค่าแก๊ส ช่วยเหลือค่าเดินทาง เช่น ขึ้นรถเมล์ฟรีได้เดือนละ 500 บาท แบบว่าไม่ต้องแจกเงินสดๆ แค่ใส่มูลค่าในบัตรให้ไปรูดปี๊ด!!

ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. หน่วยงานใต้สังกัด กระทรวงคมนาคม ได้จัดงานสื่อมวลชนสัมพันธ์การดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเพื่อเปิดตัว “ตั๋วร่วม” อย่างเป็นทางการ

นิยามของตั๋วร่วม...คือ ตั๋วใบเดียวที่จะนำมาใช้เป็นบัตรโดยสารได้ทุกระบบการเดินทาง ซึ่งในต่างประเทศใช้ระบบตั๋วร่วมมานานหลายปีแล้ว สนข. ได้จัดประกวดให้ตั้งชื่อตั๋วร่วมชิงรางวัลกันด้วย
 

บัตรแมงมุม ใบเดียวเชื่อมต่อทุกการเดินทาง


โดยชื่อที่ได้รับการคัดเลือก คือชื่อที่เรียกง่ายๆ แต่สื่อความหมายดีมากๆ ว่า “บัตรแมงมุม” เปรียบระบบการขนส่งทุกโหมดเดินทางทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ เรือโดยสารรวมทั้งทางด่วนเป็นโครงข่ายใยแมงมุมที่ใช้บัตรใบเดียวเชื่อมโยงทุกการเดินทางนอกจากความสะดวกสบายแค่พก “บัตรแมงมุม” ใบเดียว ใช้เดินทางได้ทุกโหมด ไม่เสียเวลาแลกเหรียญหรือแลกตั๋วโดยสาร ไม่ต้องกลัวตั๋วหายแล้ว บัตรแมงมุมจะมีส่วนลดค่าโดยสารให้ด้วยโดยในอนาคตจะลดค่าแรกเข้าระบบ เช่น จากรถไฟฟ้าบีทีเอสต่อรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) หรือรถไฟฟ้าสีม่วง (บางใหญ่-คลองบางไผ่) ซึ่งเป็นคนละสายหรือเป็นคนละระบบกัน ก็จะยกเว้นค่าแรกเข้าให้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ที่สำคัญยังช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ได้ด้วย หากสามารถดึงดูดประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น อีกทั้งการแตะบัตรผ่านทางด่วน จะช่วยลดปัญหารถติดขัดหน้าด่านจากการทอนเงิน

“บัตรแมงมุม” มี 3 ประเภท คือบัตรบุคคลทั่วไปสีน้ำเงิน บัตรนักเรียน/นักศึกษาสีเทา และบัตรผู้สูงอายุสีทอง เพื่อแยกส่วนลดของแต่ละวัย มีค่ามัดจำและธรรมเนียมประมาณ 150 บาท
 

บัตรแมงมุม ใบเดียวเชื่อมต่อทุกการเดินทาง


ช่วงแรกจะพิจารณาลดค่ามัดจำเหลือ 50 บาท หรือยกเว้นให้ ในหลักการสามารถเติมเงินในบัตรได้สูงสุด 10,000 บาท กรณีบัตรหายสามารถขออายัดวงเงินได้ เป็นรายละเอียดคร่าวๆ ที่ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. สแกนถึงบัตรแมงมุม

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนิน “โครงการตั๋วร่วม” โดยเฉพาะการจัดตั้งบริษัทจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC) ระยะแรกให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ดูแลโครงข่ายรถไฟฟ้ารับผิดชอบก่อน จากนั้นต้องจัดตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการที่มีเอกชนผู้ให้บริการทุกรายเข้าร่วมถือหุ้นภายในเดือน ก.ค.61

รฟม. จะนำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการหรือบอร์ดพิจารณาเร็วๆ นี้ จากนั้นจะลงนามบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู (MOU) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เพื่อเจรจาเงื่อนไขการติดตั้งระบบตั๋วร่วมบนรถไฟฟ้าต่อไป
 

บัตรแมงมุม ใบเดียวเชื่อมต่อทุกการเดินทาง

บัตรแมงมุม ใบเดียวเชื่อมต่อทุกการเดินทาง


นายชัยวัฒน์ บอกข่าวดีด้วยว่าขณะนี้ สนข. ได้จัดเตรียม “บัตรแมงมุม” ล็อตแรกไว้แล้ว 2 แสนใบ อยู่ระหว่างเซ็นระบบข้อมูล เตรียมแจกประชาชนทดลองใช้ฟรีปลายปีนี้ ดีเดย์กับรถเมล์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กำลังติดตั้งระบบตั๋วอัตโนมัติหรืออีทิคเก็ต (E-Ticket) ในรถร้อน 800 คัน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อรองรับการใช้ “บัตรคนจน” ที่จะได้สิทธิ์ขึ้นรถเมล์ฟรี 800 คัน คนละ 500 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ ดังนั้น “บัตรคนจน” ก็ถือว่ามีรูปแบบคล้าย “ตั๋วร่วม” ที่ประชาชนได้ประเดิมใช้กันไปก่อน

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า สนข. มีแผนเปิดจำหน่ายบัตรแมงมุมตามจุดต่างๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ ร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย การใช้งานบัตรแมงมุมระยะ (เฟส) แรก คือปลายปีนี้กับรถเมล์ ขสมก.ที่ติดตั้งอีทิคเก็ตแล้วเสร็จ 800 คัน และจะเพิ่มเป็น 2,600 คัน รวมถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-คลองบางไผ่ ในเดือน มี.ค. 61 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อและรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือบีทีเอสประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. 61 เพราะต้องรอเชื่อมระบบ

จากนั้นจะเริ่มพัฒนาในเฟส 2 ให้ใช้งานได้ราวปี 62 กับทางด่วนและมอเตอร์เวย์ เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือคลองแสนแสบ ส่วนรถไฟมีระบบการซื้อตั๋วแตกต่างกับขนส่งประเภทอื่นๆ จึงรอการพัฒนาต่อไป นอกจากนี้ยังเจรจากับผู้ประกอบการนอกภาคขนส่งเช่น เครือซีพีผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซ่เวนฯ เดอะมอลล์ เครือเซ็นทรัลและธนาคารต่างๆ ให้เข้าร่วมโครงการในหลายรูป เช่น ให้บริการเต็มเงิน ใช้บัตรแมงมุม ใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้ด้วย

….“บัตรแมงมุม” มาแล้ว ตั๋วใบเดียวง่ายทุกการเดินทางและการจับจ่าย แต่จะตอบโจทย์ประชาชนหรือไม่?? ต้องติดตามกัน

ที่มา : dailynews, reviewyourliving

------------------------------------------
ชมข้อมูลบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ คอนโดมิเนียม เพิ่มเติมได้ที่ 
Website : www.realasset.co.th
Facebook : www.facebook.com/RealAssetDevelopment
Instagram : www.instagram.com/realasset.development/
LINE@ : @realasset
Call Center : 1232

ข่าวและกิจกรรม